วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

สพฐ. รับรางวัลเชิดชูเกียรติฯ ในงาน “กยศ. EXPO สร้างโอกาส สร้างอนาคต”

 


วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมงาน “กยศ. EXPO สร้างโอกาส สร้างอนาคต” พร้อมรับรางวัลเชิดชูเกียรติในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการหักและนำส่งเงินคืนกองทุน โดยมี นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวรายงาน ร่วมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมในพิธี ณ อาคารคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 3 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี

.
สำหรับงาน “กยศ. EXPO สร้างโอกาส สร้างอนาคต” จัดโดย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการดำเนินงาน รวมทั้งทิศทางการดำเนินงานของกองทุนฯ ตลอดจนเป็นเวทีในการส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงาน (นายจ้าง) ที่ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการหักและนำส่งเงินคืนกองทุน พร้อมทั้งมีโซนจัดแสดงนิทรรศการของกองทุนหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานประกอบการที่ต้องการกำลังคนคุณภาพเข้าทำงาน และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 20 หน่วยงาน แบ่งเป็นภาครัฐ 10 หน่วยงาน และภาคเอกชน 10 หน่วยงาน โดยภาครัฐ 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4. มหาวิทยาลัยมหิดล 5. การไฟฟ้านครหลวง 6. ธนาคารออมสิน 7. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 9. มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 10. สำนักงานศาลยุติธรรม
.
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนา Special Talk “ปลดล็อกทักษะการเรียนรู้ดิจิทัลแห่งอนาคต (Unlocking Digital Learning Skills for the Future)” โดย รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดีกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณประหยัด รุ่งสมัยทอง IT CTO of Enterprise Business Group, Huawei Thailand และคุณสราวุธ วุฒิจริยาทูล Huawei Cloud Ecosystem Operation Specialist รวมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการการส่งเสริมอาชีพในอนาคตสำหรับผู้เข้าศึกษาในหลักสูตร Reskill/Upskill ระหว่าง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และเครือข่ายสถานศึกษาในสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) อีกด้วย  คลิกที่นี่ 

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2568

สพฐ. เสริมศักยภาพบุคลากร เดินหน้าสู่ระบบราชการดิจิทัล ผ่านโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ e-Office

 


วันที่ 27 มิถุนายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเสนอหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบบริหารจัดการสำนักงาน (e-Office)” โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. บุคลากรกลุ่มบริหารงานทั่วไป เลขานุการของผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 และ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การใช้ระบบ e-Office ถือเป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับการปฏิบัติงานของภาคราชการให้ทันสมัย มีมาตรฐาน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีคุณภาพ.

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบ e-Office ในการเสนอหนังสือราชการอย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้ธุรกรรมทางราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีผลรับรองทางกฎหมาย และช่วยให้การติดต่อราชการเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.

ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยบุคลากรกลุ่มบริหารงานทั่วไป เลขานุการของผู้บริหารระดับสูง ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมถ่ายทอดความรู้และจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ระบบ e-Office อย่างเข้มข้น อาทิ อภิปรายการเสนอหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบบริหารจัดการสำนักงาน (e-Office) โดย วิทยากรจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝึกปฏิบัติการเสนอหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบบริหารจัดการสำนักงาน (e-Office) เป็นต้น.การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของ สพฐ. ในการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบราชการดิจิทัล (Digital Government) อย่างยั่งยืน  รูปภาพเพิ่มเติมคลิกที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2568

สพฐ. ร่วมหารือกลาโหม เล็งนำนักเรียนเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานแห่งใหม่ เรียนรู้ประวัติศาสตร์-สำนึกรักชาติ



ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมหารือกับผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในการส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. นำนักเรียนเข้าเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้อนุสรณ์สถานสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พื้นที่ศรีสมาน เพื่อศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และปลูกฝังสำนึกรักประเทศชาติ โดยมี พลเอก ศรัณย์ เพชรานนท์ หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พลตรี สถาพร กระแสร์แสน ผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา พล.ต.บุญเชิด นครรัมย์ เสธ.ศอพท. พ.อ.หญิง ไพจิตร ชัยศรีสวัสดิ์ ผอ.กลาง ศอพท. เรือเอกหญิง ชัญธิกา มนาปี แผนกนโยบายและแผนการพัฒนากำลังพล และ ร้อยโทหญิง นภัสนันทน์ เศวตเศรนี ประจำแผนกนโยบายและแผนการพัฒนากำลังพล ร่วมด้วย นายนรินธรณ์ เซ่งล้ำ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ นางสาวสิริรักษ์ ชูสวัสดิ์ ผู้แทนศูนย์ส่งเสริมและประสานงานกิจการนักเรียน นายกิติรัตน์ เบ้าลี้ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มีการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พื้นที่ศรีสมาน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ รวมถึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในสมัยอดีตที่ได้ทรงปกป้องผืนแผ่นดินไทย รักษาเอกราช และนำพาความมั่นคงมาสู่ประเทศ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีคุณูปการแก่กิจการทหารไทย อีกทั้งยังเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมความเสียสละของเหล่าผู้กล้าที่เสียสละชีวิตในสงครามต่าง ๆ และมุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้เข้าศึกษาเรียนรู้ โดยมีโซนจัดแสดงรวม 8 โซน ได้แก่ Zone 1 : โถงทางเข้าอนุสรณ์สถานสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, Zone 2 : โถงเฉลิมพระเกียรติ, Zone 3 : สงครามโลกครั้งที่ 1, Zone 4 : กรณีพิพาทอินโดจีน - ฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา, Zone 5 : สงครามเกาหลี, Zone 6 : สงครามเวียดนาม, Zone 7 : จุดยิงปืนเลเซอร์ และ Zone 8 : เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้ร่วมหารือกับผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถึงแนวทางความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนให้กิจกรรมดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป



 





 





วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2568

สพฐ. เข้าร่วมงาน “ค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568” (ASEAN Youth Camp 2025: AYC2025) จุดพลังเยาวชนอาเซียน ดึง AI เปิดค่าย AYC 2025 แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่โลกอนาคตที่ยั่งยืน

                                  

                                

 วันที่ 17 มิถุนายน 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด “ค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568” (ASEAN Youth Camp 2025: AYC2025) ภายใต้หัวข้อ “AI แฮกกาธอนเพื่อความยั่งยืนสีเขียว” โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นายรวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์สะเต็มศึกษาซีมีโอ เข้าร่วม ณ อพวช. จังหวัดปทุมธานี


นายสิริพงศ์ ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งในการต้อนรับคณะนักเรียนและครูจากประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนอาเซียน 2025 ในครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนและประสานงานจาก SEAMEO STEM-ED และพันธมิตรอีกมากมาย ที่ร่วมกันผลักดันให้กิจกรรมระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพและเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ การจัดค่ายเยาวชนอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีอันทรงคุณค่าในการเตรียมความพร้อมเยาวชนยุคใหม่ให้สามารถรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากอิทธิพลของเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมดิจิทัล ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ในยุคที่การศึกษาก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โลกกำลังหมุนเร็วด้วยพลังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เยาวชนในวันนี้ต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นในการปรับตัว รวมถึงจิตสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต” ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าว

“Hackathon มาจากคำว่า ‘การแฮก’ บวกคำว่า ‘มาราธอน’ คือ การทำอะไรที่ใช้การคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยวิธีลัดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อให้เด็กรู้จักคิดและพัฒนาต่อไปอย่างมีคุณค่า สอดคล้องกับแนวทาง “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เยาวชนในอาเซียนมาร่วมอบรมแลกเปลี่ยนทัศนคติ เทคโนโลยีด้วยกัน จุดประกายการตื่นตัวให้กับนักเรียนไทยในการให้ความสำคัญเรื่อง AI และสิ่งแวดล้อม” ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าว


ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า AYC2025 คือ เวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลายมิติ ทั้งทางวิชาการ ปัญญาประดิษฐ์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการเชื่อมั่นว่า ค่ายเยาวชนอาเซียน 2025 ไม่ได้เป็นเพียงเวทีแห่งการเรียนรู้ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพ แนวคิด และแรงบันดาลใจใหม่ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และจะเป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมและแนวคิดสร้างสรรค์ ในฐานะเจ้าบ้าน กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะแบ่งปันวัฒนธรรมไทยอันเปี่ยมด้วยไมตรีจิต ให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความอบอุ่นของวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความเมตตา ความเคารพในการอยู่ร่วมกัน และสนับสนุนเวทีแห่งการเรียนรู้ระดับนานาชาติอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ในฐานะเจ้าภาพเท่านั้น แต่ในฐานะ “เพื่อนร่วมทางของโลกอนาคต”

สำหรับกิจกรรมภายในค่ายฯ ประกอบด้วย การเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ผสมผสานกับการสร้างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม การศึกษาดูงาน การแข่งขันแฮกกาธอนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ โดยมีนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ จากประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม 9 ประเทศ และยังมีสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ รวมถึงประเทศคู่เจรจาจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น รวม 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 86 คน แบ่งเป็นนักเรียน 67 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 19 คน โดยมีทีมเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จำนวน 5 ทีม

นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนและครูจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 แห่ง เข้าร่วมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน จำนวนกว่า 50 คน

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : ศธ. 360 องศา

สพฐ. จัดประชุมสรุปผลโครงการส่งเสริมรายได้ให้แก่นักเรียน หนุนทักษะอาชีพ สร้างโอกาสทางการศึกษา

  วันที่ 18 มิถุนายน 2568 สำนักอำนวยการ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทําการรายงานผลการดําเนินงานโครงการส่งเสริมรายได้ให้แก่นักเรียน (ทุนแลกงาน) ประจําปี พ.ศ. 2568 โดยมี นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. เป็นประธานในการเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. กล่าวว่า ความสําคัญของโครงการนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการดําเนินงานโครงการฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีรายได้จากการปฏิบัติงาน อันเป็นการฝึกฝนทักษะอาชีพ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน โครงการส่งเสริมรายได้ให้แก่นักเรียน (ทุนแลกงาน) ได้ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนรู้และมีรายได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิตให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต










วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

สพฐ. ติดตามใกล้ชิดการจัดสรรนมโรงเรียน ย้ำความมั่นใจนักเรียนทุกคนได้รับสิทธิครบถ้วน

 


วันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายสำคัญที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใส่ใจสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะการจัดสรรนมโรงเรียนที่ถือเป็นสวัสดิการสำคัญของรัฐ สร้างเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสมองให้กับนักเรียนทั่วประเทศ
.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยืนยันว่าได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กไทยทุกคนจะได้รับนมโรงเรียนครบถ้วนและทั่วถึง จากรายงาน ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 พบว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 26,344 แห่ง ได้รับการจัดส่งนมแล้ว 3,774 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 14.32 โดยในขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการจัดส่งให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
.
นอกจากนี้ สพฐ. ได้เน้นย้ำไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งให้กำกับ ดูแล และติดตามสถานการณ์การจัดสรรนมโรงเรียนอย่างรอบคอบและเข้มงวด โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการตรวจสอบคุณภาพ การจัดเก็บ และการจัดส่งให้ถึงมือเด็ก ๆ อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมช่องทางการประสานงานหากพบปัญหาในพื้นที่ เช่น การจัดส่งล่าช้าหรือปัญหาคุณภาพนม เพื่อให้สามารถแก้ไขได้โดยไม่ให้กระทบสิทธิของนักเรียน
.
“แม้กระบวนการต่าง ๆ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่ สพฐ. ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่า นักเรียนทุกคนจะไม่เสียสิทธิ นมโรงเรียนทุกกล่องจะถึงมือเด็ก ๆ ครบถ้วนตามสิทธิ 260 วันต่อปีการศึกษา และจะมีการชดเชยวันหากมีการจัดส่งล่าช้า เพื่อให้เด็กไทยได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเติบโตอย่างสมวัย” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว
.
พร้อมกันนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากขอบคุณผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดูแลนักเรียนในช่วงนี้ พร้อมย้ำว่า สพฐ. จะติดตามความคืบหน้าและประสานการดำเนินงานอย่างรอบด้านและใกล้ชิด เพื่อให้การจัดสรรนมโรงเรียนเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ สมกับความมุ่งหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเห็นเด็กไทย “เรียนดี มีความสุข” อย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

สพฐ. ปฐมนิเทศครูผู้ช่วย 374 ราย “ครูรุ่นใหม่” ขับเคลื่อนการศึกษาไทยด้วยหัวใจและจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู








วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีรับรายงานตัวและปฐมนิเทศข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามกระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2568 ทั้งในพื้นที่ปกติและพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยมี นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ
.
นายธีร์ ภวังคนันท์ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า นโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568–2569 ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งได้รับการผลักดันโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” พร้อมแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่เน้นการขับเคลื่อนการศึกษาอย่างเท่าเทียม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทันสมัยและทัดเทียมมาตรฐานสากล สู่เป้าหมายการพัฒนาคนไทยให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และสามารถสร้างสังคมไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมด้วยนโยบายสำคัญของ สพฐ. ภายใต้การนำของว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการลดภาระงานของครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
.
“ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับทุกท่านที่ผ่านการคัดเลือก และกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการครู ซึ่งถือเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ และมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ มุ่งมั่น เต็มกำลังความสามารถ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของความเป็นครู มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมยึดมั่นในจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ การคัดเลือกครูผู้ช่วยในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นที่ปกติ มีผู้สมัคร 1,746 ราย มีสิทธิสอบ 1,744 ราย ผ่านการคัดเลือก 1,239 ราย และมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง 352 ราย ใน 33 กลุ่มวิชาเอก และกลุ่มพื้นที่ จชต. มีผู้สมัคร 92 ราย มีสิทธิสอบ 92 ราย ผ่านการคัดเลือก 60 ราย และมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง 22 ราย ใน 17 กลุ่มวิชาเอก รวมทั้งสิ้นมีผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วยจำนวน 374 ราย โดยได้มีการรายงานตัวเพื่อเลือกสถานศึกษาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ ภาคเช้าจำนวน 187 ราย (พื้นที่ปกติ 18 วิชาเอก) และภาคบ่ายจำนวน 187 ราย (พื้นที่ปกติ 165 ราย จาก 15 วิชาเอก และพื้นที่ จชต. 22 ราย จาก 17 วิชาเอก)

สพฐ. รับรางวัลเชิดชูเกียรติฯ ในงาน “กยศ. EXPO สร้างโอกาส สร้างอนาคต”

  วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอำนว...