วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566

สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนตัวชี้วัดผลลัพธ์การดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 .




 นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนตัวชี้วัดผลลัพธ์การดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งกลุ่มพัฒนาระบบบริหารได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2566 โดยมี นางสาวลิลิน ทรงผาสุก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสำนักส่วนกลางที่รับผิดชอบตัวชี้วัด ข้าราชการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. ส่วนกลาง) เข้าร่วม ณ โรงแรมทองธารา ริเวอร์วิว กรุงเทพมหานคร และผ่านช่องทางสื่อดิจิทัล (Zoom Meeting, OBEC Channel)

.

รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ส่วนราชการมีการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ส่วนราชการจึงต้องมีการดำเนินงานตามแผนงานโครงการที่สอดรับกับนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

.

ทั้งนี้ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดกรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้ส่วนราชการได้ใช้เป็นกรอบในการพัฒนาระบบราชการให้มีความเข้มแข็ง สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเป็นมาตรฐาน ให้สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และมติคณะรัฐมนตรี 20 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ โดยมีกรอบการประเมินใน 2 องค์ประกอบ ได้แก่ การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) และการประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) โดยประเมินปีละ 1 ครั้ง

.

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้กำหนดการประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งใช้กรอบแนวทางการประเมินระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) เป็นการประเมินหลัก และได้มีข้อสั่งการให้ทุกสำนักที่เกี่ยวข้อง บูรณาการตัวชี้วัดในการประเมินองค์รวมร่วมกัน เพื่อลดภาระครูและลดภาระการรายงานของผู้ปฏิบัติงานในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เหลือน้อยที่สุด

.

สพฐ. โดย กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร จึงได้ดำเนินการวิเคราะห์ความสอดคล้องเชื่อมโยงตามนโยบายและจุดเน้นระดับ กระทรวงศึกษาธิการ และระดับ สพฐ. แผนปฏิบัติราชการฯ ของ สพฐ. ตลอดจนกรอบแนวทางตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราชการที่รองรับการเป็นระบบราชการ 4.0 และได้กำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ครอบคลุมการบริหารงานด้านแผนงาน การเงินการบัญชีการตรวจสอบภายใน และการพัฒนาองค์การ สามารถใช้ตอบการประเมินระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายและบูรณาการการปฏิบัติงานของ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อรองรับต่อยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมทางการพัฒนาองค์กรเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ราชการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่ เพื่อพลิกโฉมให้สามารถเป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไป

 


วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566

รองเลขาธิการ กพฐ. “พัฒนะ” เปิดโครงการพัฒนาการมีวินัย การรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย และโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษา สพม.นครสวรรค์

 .


วันที่ 10 มีนาคม 2566 ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาการมีวินัย การรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม โรงแรมไดอาน่า การ์เด้น รีสอร์ท อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

.

ดร.พัฒนะ กล่าวว่า นับว่าเป็นสิ่งน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้ารับ การอบรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ดี เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบกฎหมาย การดำเนินงานทางวินัย และการปฏิบัติงานในสถานศึกษาทั้ง ด้าน ซึ่งสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นการลดข้อคลางแคลงสงสัย จึงไม่ก่อให้เกิดปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติราชการ จึงนับได้ว่าเป็นโครงกาที่ดีที่ควรส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

.

ผมขอขอบคุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ และคณะที่ได้ดำเนินการให้มีโครงการในครั้งนี้ ขอขอบคุณคณะวิทยากรทุกท่าน ที่เสียสละเวลามาให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ และขอขอบคุณผู้เข้ารับการพัฒนา ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมาเพิ่มเติมความรู้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะได้นำความรู้ ที่ได้จากท่านวิทยากรไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์ต่อราชการและประเทศชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

.

ทั้งนี้ การจัดอบรมโครงการนี้ ได้จัดทำขึ้นตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ 2566 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ เพื่อสนองยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคงตามแผนแม่บทฯ ประเด็น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป้าหมาย เพื่อการอำนวยความยุติธรมให้เป็นไปโดยเสมอภาค โปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติราชการในงานทั้ง ด้าน เพื่อให้มีความถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอนที่กำหนด อันจะเป็นการลดปริมาณคดีที่เกิดขึ้นใหม่ ให้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการกลุ่มทุกกลุ่มในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ และบุคลากรเจ้าหน้าที่ จำนวนทั้งสิ้น 125 คน โดยได้รับเกียรติจาก นายสมสกุล ณ บางช้าง รองอธิบดีศาลปกครองระยอง และทีมจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ ในเรื่องดังกล่าว

 


วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2566

ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เปิดโครงการบูชาบูรพาจารย์ เนื่องในวันครูแห่งชาติ สพม.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เปิดโครงการบูชาบูรพาจารย์ เนื่องในวันครูแห่งชาติ สพม.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

.

วันที่ 16 มกราคม 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้ นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในโครงการบูชาบูรพาจารย์ เนื่องในวันครูแห่งชาติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นางอุรารักษ์ สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม คณะกรรมการจัดงานวันครู ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโรงเรียนศรัทธาสมุทร อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

.

นายอนันต์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ มุ่งหวังให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายทางการศึกษา ได้ร่วมกันระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ เป็นการส่งเสริมความสามัคคี ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน ส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดี ทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม สร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม

.

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการบูชาบูรพาจารย์ เนื่องในวันครูแห่งชาติสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจำปี พ.ศ.๒๕66 ขอขอบคุณผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับนโยบายและแนวทางตามที่ส่วนกลางกำหนด ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

.

สำหรับโครงการครั้งนี้ คุรุสภา โดยคณะอนุกรรมการจัดงานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ได้กำหนดจัดงานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ในหัวข้อ “พลังครู คือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา :Teachers’ Power is the Heart of Transforming Educational Quality” และกำหนดแนวทางในการจัดงานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับนโยบายและแนวทางตามที่ส่วนกลางกำหนด และมีความมุ่งหวังให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายทางการศึกษาได้ร่วมกันระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ เป็นการส่งเสริมความสามัคคี ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน ส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดี ทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม สร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม

.

ขอบคุณภาพ : สพม.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

.


https://www.obec.go.th/archives/757919


วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2566

รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดการประชุมการจัดทำแนวทางรับรองมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (มาตรฐาน GECC) .

                                

 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายให้ ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดงานและบรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำแนวทางรับรองมาตรฐานการ ให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (มาตรฐาน GECC) เพื่อเป็นองค์ความรู้การดำเนินงานพื้นฐานตามประเด็น เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานได้รับทราบรับรู้และเข้าใจไปสามารถนำไปใช้ในบริบทของหน่วยงานตนเองได้ รวมทั้งศึกษาแนวทางเกณฑ์คุณภาพและเกณฑ์ผลลัพธ์ จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน สำหรับหน่วยงานในสังกัดที่สนใจจะสมัครรับรองมาตรฐาน GECC โดยกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 12 - 13 มกราคม 2566

https://www.obec.go.th/archives/755194

 

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 12/2565

 



                        วันที่ 14 ธันวาคม 2565 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 12/2565 โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting

ทั้งนี้ ในการประชุมมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ รายงานข้อเสนอแนะการตรวจสอบการเงินสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2564 การดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่ (กพฐ. สัญจร) (ร่าง) นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน #พาน้องกลับมาเรียน

  โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน #พาน้องกลับมาเรียน

https://www.facebook.com/watch/?v=485391820365918