วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชุมจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก



วันที่ 24 มีนาคม 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้กล่าวรายงาน มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการ กศจ. ผู้บริหารและศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ผู้แทนผู้ประกอบการภาคเอกชน ผู้แทนชุมชนและผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในพื้นที่ทุกภาคส่วน รวมถึงสถานศึกษาในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,100 คน ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี

.
หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ครม.ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) เบื้องต้นในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และสามารถเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯได้ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการให้บริการของภาครัฐในพื้นที่เขต EEC และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ได้แก่ สาขายานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวในกลุ่มรายได้สูงและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร
.
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในฐานะที่ สพฐ. มีหน้าที่จัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน ได้ให้ความสำคัญในการเตรียมเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระบวนการสร้างคนด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีการบูรณาการการจัดการศึกษาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยใช้การศึกษาทั้งในและนอกระบบ และส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 
.
“การจัดการศึกษาแบบบูรณาการ จะอาศัยสถานศึกษาในด้านการเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อม มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ และมีการปรับตัวที่จะอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข โดยจะกำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ พัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก โรงเรียนนำร่อง พัฒนาครูรองรับการเข้าสู่ด้านเศรษฐกิจ ทั้งด้านการใช้ภาษา พร้อมผลิตสื่อการเรียนการสอน พัฒนาครูด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับหน่วยงานการศึกษาด้านอาชีพ ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน จัดทำรายวิชาเพิ่มเติม จัดประสบการณ์ตรง ฝึกทักษะในสถานประกอบการ เรียนรู้กับเจ้าของภาษา เรียนรู้จากภูมิปัญญา ฯลฯ เพื่อนำแผนงานและผลการปฏิบัติไปทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาแผนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด ยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า “การจัดการศึกษาโดยผู้มีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนหรือพัฒนาอาชีพจะตรงตามความต้องการกำลังคนในแต่ละภาคส่วน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) คือ การพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามบริบท สังคม เศรษฐกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดการเรียนการสอนต้องเน้นทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และทักษะชีวิต สถานศึกษาต้องสามารถแนะแนวให้นักเรียนรู้จักตนเอง พัฒนาศักยภาพได้ตรงตามความสนใจ และสามารถวางแผนเส้นทางการศึกษาสู่การเรียนต่อและการมีอาชีพได้อย่างชัดเจน 
.
การประสานพลังของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานเอกชนและสถานประกอบการซึ่งจะช่วยบอกความต้องการกำลังคนและให้โอกาสผู้เรียนในการฝึกเรียนและเรียนรู้ความต้องการของตนเอง ก็จะทำให้สถานประกอบการมีกำลังคนตามความต้องการด้วย การประสานประโยชน์ดังกล่าวทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ในนามของรัฐบาล ขอสนับสนุนการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมผู้เรียนและทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและคุณสมบัติพร้อมที่จะเข้าแข่งขันในตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาโครงการต่อไปด้วย”
 .
ทั้งนี้ กิจกรรมในการประชุมสัมมนาประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน และแนวทางในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องตามความจำเป็นของแต่ละบริบท โดยมีวิทยากรจากวิทยาลัยพณิชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรังสิต และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ร่วมบรรยายให้ความรู้ พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และนิทรรศการของแต่ละจังหวัด โดยแสดงภาพการขับเคลื่อนการจัดศึกษา ตามวิสัยทัศน์ของแต่ละจังหวัดด้วย
.
ดูรูปภาพเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/obec.pr/posts/390056074698214

สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                   ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการปร...