วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เสมา 1 มอบนโยบายการจัดการศึกษา ในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564

 


วันที่ 9 มิถุนายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564 โดยการประชุมทางไกล เพื่อมอบนโยบายการจัดการศึกษาเร่งด่วน (Quick Win) ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของ สพฐ. ร่วมชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมทางไกล ถ่ายทอดสดจากห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

.
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้ได้มาพบกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ตนขอฝากในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก จึงขอเน้นในเรื่องของการยืดหยุ่น การปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทและพื้นที่ เพื่อให้เป็นการเรียนที่นักเรียนได้ประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ตนได้พูดคุยกับผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการว่า ในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบนี้ เราจะสามารถดำเนินการให้มีคุณภาพและจับต้องได้อย่างไร ที่จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในส่วนของทั้งองค์ความรู้และทักษะชีวิต เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กไม่สามารถเรียนในรูปแบบปกติได้ อาจทำให้ไม่สามารถเรียนรู้องค์ความรู้ได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ในส่วนนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการปรับเพื่อให้พร้อมใช้ในปีการศึกษา 2565 โดยในหลักสูตรฐานสมรรถนะจะมีเรื่องของการเรียนแบบ Active Learning ที่จะเชื่อมโยงกับทักษะชีวิต ซึ่งในโรงเรียนหลายแห่งมีพื้นที่การเกษตรก็จะได้ทำในส่วนนี้อยู่แล้ว คุณครูสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการสอนได้ เช่น คุณครูอาจจะนำสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเชื่อมโยงให้เด็กเขียนเรียงความ หรือเล่าเรื่องราวว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เด็กได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปกลุ่มสาระวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา เป็นต้น 
.
ในเรื่องของวัคซีน เนื่องจากคุณครูเป็นบุคลากรที่สำคัญและมีความใกล้ชิดกับนักเรียน ที่ผ่านมาทางกระทรวงฯก็ได้มีการพูดคุยกันตลอดและได้เรียนนายกรัฐมนตรีให้ทราบ ทางนายกฯเองก็ได้ให้การฉีดวัคซีนกับครู เป็นเรื่องสำคัญเป็นอันดับแรกๆ แต่เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่คลาดเคลื่อนจากกำหนด กระทรวงฯจึงได้มีการปรับแผนเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเร่งฉีดในพื้นที่สีเข้มก่อน แล้วจึงทยอยฉีดต่อไปจนครบทุกพื้นที่ ส่วนเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทั้งครูและนักเรียน แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 เราจึงจะเน้นในเรื่องความปลอดภัยทางด้านโควิด-19 ก่อนเป็นอันดับแรก โดยดำเนินการตามมาตรการของ ศบค. โดยเฉพาะโรงเรียนที่จะต้องเปิดเรียนแบบ On Site ขอให้ผอ.เขตทุกพื้นที่ได้กำชับกับทางโรงเรียน ให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด สิ่งนี้ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองได้ เช่นเดียวกับเรื่องของการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ในสถานการณ์เช่นนี้ทางกระทรวงฯมีความเข้าใจ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองได้
.
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากว่าเราจะยังคงต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ตนขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งคุณครู บุคลากร ผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่องและอุปสรรคต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องมีความยืดหยุ่นตามบริบทและพื้นที่ ต้องไม่ตึงหรือเข้มงวดจนเกินไป เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้เกิดการเรียนรู้แบบ New Normal โดยไม่เครียดจนเกินไป ขอให้แต่ละสำนักงานเขตฯพิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือเด็กต้องมีความสุข เพราะหากเด็กไม่มีความสุขแล้ว ก็ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
.
“ในช่วงเวลาแบบนี้เราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เพราะทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปได้ ซึ่งเด็กคืออนาคตของชาติ หากเราขาดความร่วมมือร่วมใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เราก็คงไม่อาจก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกันได้ ในส่วนนี้กระทรวงฯพยายามจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ หากมีประเด็นอะไรที่ต้องการจะทำหรือไม่เข้าใจแนวคิดในด้านไหน ทางกระทรวงฯเองยินดีที่จะช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันต่อไปได้” รมว.ศธ. กล่าว
.
ทั้งนี้ หลังจาก รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายในภาพรวมของกระทรวงฯแล้ว ผู้บริหารของ สพฐ. จึงได้ร่วมชี้แจงแนวทางการจัดการศึกษาในประเด็นต่างๆ อาทิ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ชี้แจงในประเด็นการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นโยบายเร่งด่วนการจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพชุมชน นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงเรื่องการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ชุดสื่อ 60 และ 65 พรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการโรงเรียนร่วมทดลองการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ โครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทางจากครูชาวต่างชาติและครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ ระดับมัธยมศึกษา โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ทิศทางการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย รวมถึงแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง ตามนโยบาย”เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออก เขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการเปิดภาคเรียน การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/การรายงานการตรวจสอบข่าวปลอม และระบบ e-Saraban ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2564 การรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนประจำพักนอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 รวมถึงโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง สร้างความเข้าใจและชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนขนาดเล็ก การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ITA Online ปี 2564) และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา และการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2564

สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                   ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการปร...