วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สพฐ. รับมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน ในโครงการ “KUBOTA ปันน้ำใจให้น้อง”

วันที่ 26 ธันวาคม 2562 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีรับมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน ในโครงการ “KUBOTA ปันน้ำใจให้น้อง” จำนวน 5,000 ชุด โดยมีผู้แทนจากบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมถึงผู้อำนวยการสำนักต่างๆของ สพฐ. และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับโครงการ “KUBOTA ปันน้ำใจให้น้อง” เป็นกิจกรรมที่บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ร้านผู้แทนจำหน่ายทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน โดยการมอบอุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็กนักเรียนในช่วงกิจกรรมวันเด็ก ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี โดยร่วมกับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้าทั่วประเทศในการจัดกิจกรรมส่งมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งตั้งแต่การจัดกิจกรรมใน 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯได้มอบกระเป๋าให้กับนักเรียนไปแล้วกว่า 295,000 คน

นอกจากการร่วมกิจกรรมกับผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว ในปี 2562 นี้ ทางบริษัทฯเล็งเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรที่มีโรงเรียนในสังกัดอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันส่งมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนเช่นเดียวกับในปี 2561 ทางบริษัทฯจึงมีแผนที่จะมอบอุปกรณ์การเรียน จำนวนทั้งสิ้น 5,000 ชุด ให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปมอบให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างโอกาสด้านการศึกษาที่ดีในอนาคตให้กับเยาวชน ซึ่งหลังจากรับมอบแล้ว สพฐ. จะดำเนินการจัดส่งอุปกรณ์การเรียนไปยังโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศต่อไป










วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สพฐ. รับมอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในโครงการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีกในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. จากบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)

วันที่ 25 ธันวาคม 2562 นายอํานาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีรับมอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในโครงการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีกในสถานศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากนายณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) พร้อมคณะ ณ ห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอํานาจ วิชยานุวัติ กล่าวว่า ขอชื่นชมการดําเนินงานของบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันต่อเศรษฐกิจโลก ในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและให้ความสําคัญด้านการศึกษาของนักเรียน โครงการการจัดการเรียนการสอนด้านพาณิชยกรรม สาขาธุรกิจค้าปลีกในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ถือเป็นโครงการที่ดี ที่ทําให้นักเรียนได้เรียนรู้ทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริง ได้มีทักษะอาชีพเพิ่มเติมจากความรู้ในห้องเรียน อีกทั้ง ยังสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน ทําให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาของ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง ในนามของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอขอบพระคุณ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) เป็นอย่างสูงที่ได้มอบทุนการศึกษาในครั้งนี้

นายณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด กล่าวว่า โครงการการจัดการเรียนการสอนด้านพาณิชยกรรม สาขาธุรกิจค้าปลีก ในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ที่จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นโครงการที่ส่งเสริมอาชีพ และสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลในข้อ 8 การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย โดยให้จัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทํางานเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ให้มีความพร้อมทั้งทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนและยังเป็นการส่งเสริมผู้เรียนให้มีรายได้จากการฝึกอาชีพ อีกทั้งเมื่อจบการศึกษาสามารถเข้าทํางานที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น และบริษัทในเครือ หรือศึกษาต่อในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยโครงการนี้ได้เริ่มดําเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 จนถึงปัจจุบัน และปัจจุบันมีนักเรียนใน ระบบ จํานวน 1,850 คน ซึ่งในปีการศึกษา 2562 นี้ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ได้จัดสรรทุนให้กับนักเรียนในโครงการทั้งหมด จํานวน 15,516,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการจัดการศึกษาต่อไป

สําหรับพิธีมอบทุนการศึกษาในวันนี้ มีตัวแทนผู้บริหารและนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จํานวน 2 โรง ได้แก่ โรงเรียนวัดอินทาราม สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 และโรงเรียนราชดําริ สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ได้มาร่วม เป็นเกียรติในพิธีรับมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ด้วย










วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมศูนย์ ERIC เร่งพัฒนาจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั้งระบบ

นายวราวิช กําภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นางอาทิตยา ปัญญา ศึกษานิเทศก์ชํานาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสถาบันภาษาอังกฤษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าของการดําเนินการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ของศูนย์ ERIC (English Resource and Instruction Center) ในโรงเรียน สพฐ.

ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ จึงเร่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั้งระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนานักเรียนให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ทั้งนี้สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดําเนินการแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั้งระบบ โดยมีการพัฒนาศูนย์ ERIC จํานวน 185 ศูนย์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาต่อยอดศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และปรับปรุงโครงสร้างบทบาทหน้าที่ให้สามารถทํางานร่วมกันระหว่างศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ERIC/PEER) ในเชิงพื้นที่

ด้านนางอาทิตยา ปัญญา กล่าวว่า สพฐ. กำลังสำรวจความพร้อมของทุกศูนย์ทั่วประเทศ สำหรับการลงพื้นที่ศูนย์ ERIC ณ โรงเรียนองครักษ์ จังหวัดนครนายก และโรงเรียนสายปัญญารังสิต จังหวัดปทุมธานี ครั้งนี้ เพื่อสอบถามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงหารือเพื่อปรับปรุงพัฒนาให้เป็นศูนย์สอบมาตรฐานภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐาน CEFR และ Digital Literacy โดยในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นทั้งศูนย์สอบและศูนย์พัฒนาครูทั้งระบบต่อไป











วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ศธ. ร่วม สพฐ. แจ้งสถานศึกษาให้ความรู้แก่นักเรียนเรื่องอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า


นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ขอความร่วมมือในการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สืบเนื่องจาก กระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันไม่ให้นักเรียน นักศึกษา เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของประเทศไทย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ สพฐ. จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้งสถานศึกษาในสังกัดให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และประชาสัมพันธ์การรู้เท่าทันนวัตกรรมใหม่ของยาสูบด้านโทษและพิษภัยของบุหรี่ต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ จากเอกสารของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับการบริโภคยาสูบ เนื่องจากยาสูบเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีผู้เสียชีวิตเนื่องจากการบริโภคยาสูบหรือ การได้รับควันบุหรี่สูงถึง 6 ล้านคนต่อปี และคาดการณ์ไว้ว่าหากประเทศต่าง ๆ ไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบ จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงจัดให้การบริโภคยาสูบเป็นปัญหาที่สำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่นเดียวกับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สอง พ.ศ. 2559-2562 ที่ “มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่”

สพฐ. ร่วมแถลงข่าว อียู-ยูนิเซฟ ออกรายงานล่าสุด เพื่อลดอุปสรรคทางการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย

วันที่ 19 ธันวาคม 2562 นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย และผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวรายงานความท้าทายในการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ “ไร้เส้นกั้นการศึกษา แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” เพื่อนำเสนอกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ ณ ห้องประชุม อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสหภาพยุโรป ได้ออกรายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า “ไร้เส้นกั้นการศึกษา: แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” เพื่อนำเสนอกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ โดยรายงานฉบับนี้รวบรวมกรณีศึกษาของการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ระนอง สมุทรสาคร ตาก และตราด ซึ่งแต่ละกรณีศึกษาชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนหลากหลายรูปแบบของการจัดการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงจากครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าหน้าที่การศึกษา และภาคประชาสังคม

รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงแก่เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กข้ามชาติ ซึ่งกรณีศึกษาต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบของความสำเร็จ 5 ประการ ประกอบด้วย 1) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการวางแผนและการนำนโยบายไปปฏิบัติ 2) การมีผู้นำที่เข้มแข็งมีแรงจูงใจและมีความสามารถในการสนับสนุนเด็กข้ามชาติ 3) การใช้กลยุทธ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล 4) การปรับปรุงการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และ 5) การมีส่วนร่วมของชุมชนและพ่อแม่/ผู้ปกครองของเด็กข้ามชาติ โดยปัจจุบัน มีเด็กข้ามชาติในประเทศไทยราว 150,000 คน ที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐ อันเป็นผลมาจากกฎหมายและนโยบายที่ก้าวหน้าของประเทศไทย เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542 และมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ที่กำหนดให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือสถานะอะไร หรือแม้จะไม่มีเอกสารใด ๆ เลยก็ตาม

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการทำงานแก่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานการศึกษาระดับท้องถิ่น ตลอดจนโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดอุปสรรคและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ พร้อมเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติยังเป็นการช่วยบ่มเพาะแรงงานข้ามชาติรุ่นใหม่ให้อ่านเขียนได้ มีทักษะ และมีการศึกษา ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การจัดการศึกษาให้แก่เด็กข้ามชาติ ยังถือเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาด้านการเข้าถึงการศึกษาของเด็กขาดโอกาสทั่วประเทศอีกด้วย

นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กชาติไหนก็ตาม หากได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว จะได้รับโอกาสทางการศึกษาตามกฎหมาย การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ด้านการศึกษา และการที่มีเด็กที่มีความแตกต่างและหลากหลายในระบบการศึกษา ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร สันติ และสมานฉันท์ ทั้งยังเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา”

ทางด้าน ดร.จูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การอพยพย้ายถิ่นของเด็กเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เด็กเหล่านี้ต้องย้ายถิ่นออกจากถิ่นกำเนิด เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สงครามความขัดแย้ง ความยากจน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งยังต้องเสี่ยงกับการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนั้น เด็กเหล่านี้ยังเข้าถึงการศึกษาได้อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาคือปัจจัยสำคัญในการปกป้องพวกเขาให้รอดพ้นจากภัยคุกคามเหล่านี้ ดังนั้น การปกป้องและคุ้มครองสิทธิของเด็กข้ามชาติเป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าเด็กข้ามชาติจะอยู่ในสถานะใด เด็กเหล่านี้ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง ซึ่งการลงทุนด้านการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาตินั้นจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับคืนมา ไม่เพียงแต่เด็กข้ามชาติเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่ชุมชนและประเทศที่รองรับเด็กเหล่านี้ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน”

ขณะที่ นายปีเตอร์ โฟร์เบล รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ออกมาในเวลาใกล้เคียงกับการครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และการมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการพิทักษ์สิทธิของประชากรกลุ่มข้ามชาติโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยูนิเซฟขอชื่นชมในความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ได้จัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ และเราพร้อมจะแบ่งปันบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาให้กับทุกโรงเรียน เพื่อที่จะได้ไปพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เด็กทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีพื้นฐานหรือสถานะใดก็ตาม”










วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สพฐ. อบรมรองผอ. เขตพื้นที่ฯ 294 ราย ก่อนแต่งตั้งให้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง


วันที่ 17 ธันวาคม 2562 นายวราวิช กําภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดอบรมการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้ง ให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 27 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมวังรี รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดําเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กําหนด ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง สพฐ. จึงได้จัดทําหลักสูตรและคู่มือการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนามีอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ บุคลิกภาพ และความเป็นผู้นํา สําหรับตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารสูงสุด อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาในทุกมิติ

ทั้งนี้ สพฐ. ได้กําหนดนโยบายให้ผู้บริหารในสังกัดจะต้องมีการพัฒนาใน 3 ประเด็น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1. การพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) 2. การพัฒนาทักษะความรู้ภาษาอังกฤษ (English Literacy) และ 3. การพัฒนาความเป็นผู้นําทางการบริหาร (Leadership) ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน การทํากรณีศึกษา (Case study) และลงพื้นที่ฝึกประสบการณ์จริง โดยได้ดําเนินการจัดทําบันทึกข้อตกลงการปฏิบัติงานในหน้าที่รองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สพฐ. และผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ในการปฏิบัติหน้าที่และพัฒนาตนเองต่อไป

สําหรับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีจํานวนผู้เข้ารับการพัฒนาฯ ทั้งสิ้น 294 ราย โดยแบ่งการพัฒนา เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเนื้อหา (Content) จํานวน 12 วัน ระยะที่ 2 การเรียนรู้สภาพจริง (Authentic Learning) จํานวน 15 วัน และระยะที่ 3 การจัดทําแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Strategy Formulation) จํานวน 5 วัน ซึ่งการพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาในระยะที่ 1 โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการพัฒนารองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้มีองค์ความรู้ครบตามวัตถุประสงค์เพื่อบริหารงานในเขตพื้นที่ของตนต่อไป









สพฐ. ประกาศรายชื่อสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดกิจกรรมลูกเสือดีเด่น และระดับดี ประจำปี 2562


นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดกิจกรรมลูกเสือดีเด่น ประจําปีงบประมาณ 2562 จากสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)

โดยแบ่งเป็นสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดกิจกรรมลูกเสือดีเด่น จํานวน 10 เขต ได้แก่ สพป.พิจิตร เขต 1 สพป.เพชรบูรณ์ เขต 2 สพม.เขต 22 (นครพนม - มุกดาหาร) สพป.ชัยภูมิ เขต 1 สพป.สุโขทัย เขต 2 สพป.ยโสธร เขต 1 สพป.นครนายก สพม.เขต 25 (ขอนแก่น) สพป.พิษณุโลก เขต 3 และสพป.สิงห์บุรี

และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดกิจกรรมลูกเสือระดับดี จํานวน 14 เขต ได้แก่ สพป.จันทบุรี เขต 2 สพป.ชุมพร เขต 1 สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 สพป.นครศรีธรรมราช เขต 4 สพป.ระนอง สพม.เขต 36 (เชียงราย - พะเยา) สพป.อุบลราชธานี เขต 3 สพป.กําแพงเพชร เขต 2 สพป.เชียงราย เขต 2 สพป.หนองบัวลําภู เขต 2 สพป.เชียงราย เขต 1 และสพป.ชลบุรี เขต 2

ทั้งนี้ สพฐ. จะจัดพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดกิจกรรมลูกเสือดีเด่น และระดับดี เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ตั้งใจพัฒนางานลูกเสือจนเป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนเป็นขวัญกําลังใจ และให้เกียรติแก่ผู้บริหารสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ข้าราชการในสังกัด ครู อาจารย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยกันส่งเสริมสนับสนุน กิจการลูกเสือให้เจริญก้าวหน้า ในวันประชุมผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับรางวัล แต่งกายโดยเครื่องแบบลูกเสือ ในการขึ้นรับโล่เชิดชูเกียรติ ต่อไป

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ศรีสะเกษจัด “ศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562” สืบสานพระราชปณิธาน ร. 6


วันที่ 13 ธันวาคม 2562 นายอำนาจ วิชยานุวัติ  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562 ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา  80  พรรษา (เกาะห้วยน้ำคำ)  อำเภอเมือง  จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งในปีการศึกษา  2562  นี้  สพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 - 4 (สพป.)  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28  (สพม.) และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้

ในพิธีเปิด มีการแสดงชุดศรีพฤทเธศวร ตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา จากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย การแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดัง เสถียร ทำมือ และนกน้อย อุไรพร และพิธีมอบโล่เกียรติยศแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน โดย นายวัฒนา พุฒิชาติ  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์  ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 พรรคเพื่อไทย คณะผู้บริหารระดับสูงจาก สพฐ. นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี  ผอ.สพป. ศรีสะเกษ เขต 4  นายภัทรศาสตร์ มาสกุล ผอ.สพม. เขต 28 พร้อมด้วย ข้าราชการ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จาก 19 จังหวัด ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ว่าที่ ร.ต.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต
1 กล่าวรายงานว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศเรื่องการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 69  ปีการศึกษา 2562  เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และเป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จของการจัดการศึกษา ทั้งเป็นการเผยแพร่ผลงานด้านการจัดการศึกษาสู่สาธารณชน การจัดงานได้เปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการแข่งขัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายและบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไปทุกปี  โดยได้มีการปรับปรุงกิจกรรม หลักเกณฑ์การจัดการแข่งขันให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรม กิจกรรมการงานพื้นฐานอาชีพ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพได้ โดยในปีการศึกษา 2562  นี้ จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน  ระหว่างวันที่  12 - 14  ธ.ค.2562 จัดการแข่งขันในเขตอำเภอเมือง และกระจายไปในเขตอำเภอต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนชาวศรีสะเกษทุกคน

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า  รู้สึกประทับใจถึงพลังของชาวศรีสะเกษทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งถือเป็นงานที่สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ต้องการให้การจัดงานนี้เป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงออกถึงองค์ความรู้ ความสามารถ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการจัดการศึกษา  เนื่องจากการจัดการศึกษาถือเป็นงานที่เป็นหัวใจสำคัญของทุกภาคส่วน  ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว โดยการแสดงออกให้เห็นจากการร่วมกันจัดงานครั้งนี้  ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  คณะผู้จัดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  ทำให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานทุกประการ
หลังจากพิธีเปิดงานแล้ว ได้มีการมอบธงสัญลักษณ์งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ของปีการศึกษา 2563 ให้แก่เจ้าภาพในปีต่อไปคือจังหวัดร้อยเอ็ด

ที่มา: สพป.ศรีสะเกษ เขต 1




 




วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สพฐ. ร่วมงานเปิดปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ปี 2563


วันที่ 13 ธันวาคม 2562 (เวลา 13.30 น.) นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม เป็นผู้แทน เลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมงานการเปิดปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ปี 2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเปิดปฏิบัติการฯ พร้อมด้วย นายณัฐดนัย หมั่นกิจ สำนักอำนวยการ นายกิตติวัฒน์ มานะยิ่ง และนางสาวประภาพร บุนนาค เจ้าหน้าที่ ฉก.ชน.

ภาพ / ข่าว : นายกิตติวัฒน์ มานะยิ่ง และนางสาวประภาพร บุนนาค เจ้าหน้าที่ ฉก.ชน.















สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                   ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการปร...