วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

สพฐ. เผยความคืบหน้าโครงการ Safe Zone School (CCTV)

วันที่ 31 มกราคม 2563 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการดำเนินโครงการ Safe Zone School (CCTV) เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้โรงเรียน ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2557 ได้มีการร้องเรียนและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 56 ราย นั้น

ทาง สพฐ. ได้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติและการพิจารณา โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2562 สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทั้งระดับส่วนกลางและระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย สพฐ. ไม่มีแผนงานงบประมาณในการจัดซื้อกล้อง CCTV เพิ่มเติม จึงจะดำเนินการในส่วนของการปรับปรุงซ่อมแซมระบบ CCTV ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงชั้นที่สุด ซึ่งในการจัดซื้อซอฟต์แวร์สิทธิ์การใช้งานให้เป็นอำนาจของ สพฐ. โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด และต้องสอดคล้องกับหลักการใน 4 ข้อ คือ 1) คุ้มค่า 2) โปร่งใส 3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และ 4) ตรวจสอบได้ แม้จะซื้อซอฟต์แวร์สิทธิ์การใช้งานเพิ่มเติมอีก 10 License โดยไม่มีกล้องมารองรับ เนื่องจากเดิม สพฐ. จัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อกล้องในแต่ละแห่งเพียงแค่ 6 กล้อง จึงไม่เกิดประโยชน์กับทางราชการและไม่มีความคุ้มค่า ประกอบกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อโปรแกรมสิทธิ์การใช้งานเพิ่มเติม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทางราชการ ไม่มีความคุ้มค่า อีกทั้งยังไม่มีประสิทธิภาพต่อการใช้งานของระบบกล้อง CCTV ในโครงการฯ ที่เพิ่มขึ้น จึงเสนอเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาพิจารณา

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ได้พิจารณาสั่งการ ให้ยกเลิกและระงับนโยบายที่ให้ใช้งบประมาณ 64 ล้านบาทเศษ จัดซื้อระบบเพิ่มเติม และให้ดำเนินการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 56 รายนั้น ให้ดำเนินการต่อไปให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ จนกว่าจะมีการพิจารณาของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลถึงชั้นที่สุด ในการนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อเตรียมความพร้อม รวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการพิจารณาของ ป.ป.ช. และศาลสูงสุด ต่อไป




วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา

วันที่ 30 มกราคม 2563 นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดประชุมปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนคุณภาพทางการศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา ของสมาคมผู้บริหารสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย โดยมี นายอดิศักดิ์ มุ่งชู ผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 นายกสมาคมผู้บริหารสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย นายธรรมรงค์ เสนจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงเรียนหอวัง กรุงเทพมหานคร

สืบเนื่องจาก กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศกําหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทุกเขต ทั้ง 42 แห่ง ได้บริหารจัดการศึกษาภายใต้กรอบนโยบายและปฏิบัติภารกิจครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ในกํากับของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาร่วม 10 ปีมาแล้ว เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Disruption) ของสภาวการณ์โลก ศธ. และสพฐ. จึงได้กําหนดทิศทางในการจัดการศึกษาที่เป็นภารกิจสําคัญในการพัฒนาประชากรของชาติให้เป็นคนไทยในอนาคตที่รักการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม อีกทั้งยึดตามเป้าหมายโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนํายุทธศาสตร์ชาติมาเป็นกรอบความคิดสําคัญในการจัดทําแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา

ดังนั้น สพฐ. จึงมีนโยบายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของประเทศ ที่มุ่งพัฒนาประชากรในวัยเรียนทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมายให้มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา รับผิดชอบต่อสังคม มีศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ และพลเมืองโลกที่ดี มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษ มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทย และพลโลกที่มีทักษะการคิดขั้นสูง เป็นนวัตกร นักคิด สามารถประกอบสัมมาชีพตามความถนัด และบริบทของตนเองได้

โดยในส่วนของ สมาคมผู้บริหารสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย (ส.พ.ม.ท.) ในฐานะองค์กรที่มีส่วนร่วมในการทําหน้าที่ขับเคลื่อนคุณภาพการมัธยมศึกษา มีความตระหนักอย่างยิ่งในแนวนโยบายของ ศธ. และ สพฐ. และมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษามัธยมศึกษาไทยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในยุค Disruption จึงได้จัดการประชุมฯ นี้ขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดทําแนวทางการบริหารจัดการมัธยมศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับเครือข่าย ให้มีความรู้ความเข้าใจและเกิดความตระหนักร่วมกัน ปรับเปลี่ยนวิธีการและวิธีคิด รวมถึงสามารถนําแนวทางการบริหารจัดการมัธยมศึกษาไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากลต่อไป










 



เลขาธิการ กพฐ. เปิดงาน “เยือนเหย้าขัวศิลป์ ยลยินดุริยนาฏกรรม” ณ โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม จังหวัดพะเยา

วันที่ 30 มกราคม 2563 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เยือนเหย้าขัวศิลป์ ยลยินดุริยนาฏกรรม” ณ โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม จังหวัดพะเยา โดยงานดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลงานของนักเรียนในโครงการห้องเรียนดนตรี ร่วมกับการแสดงศักยภาพของนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะและนาฏศิลป์

โครงการห้องเรียนดนตรี เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2560 โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมจากทุกภูมิภาคของประเทศเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 20 โรงเรียน มีการจัดทำหลักสูตรเฉพาะ เพื่อเพิ่มเติมความรู้และทักษะพื้นฐานทางดนตรีเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรห้องเรียนดนตรีไทย 9 โรงเรียน และหลักสูตรห้องเรียนดนตรีสากล 11 โรงเรียน ซึ่งนักเรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะทางดนตรี และพัฒนาต่อยอดจนเป็นสมรรถนะที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต จากการดำเนินการที่ผ่านมาโรงเรียนในโครงการสามารถพัฒนาทักษะนักเรียนจนสามารถได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และหลายโรงเรียนได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะทำความตกลงในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ และให้ทุนการศึกษาจนจบหลักสูตร

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้หลักการพัฒนาผู้เรียนว่า ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนจะค้นหาศักยภาพของเด็กและพัฒนาให้เกิดสมรรถนะด้านอาชีพและการดำรงชีวิต ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนหลักสูตรตามแนวหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – Based Curriculum) ดังนั้น เด็กผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ เช่น ดนตรี กีฬา จะได้รับการเติมเต็มศักยภาพและสมรรถนะเพื่อก้าวสู่สังคมโลกยุคใหม่นี้

ภาพ /ข่าว : โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม พะเยา







วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563

สพฐ. ห่วงใย PM 2.5 แจ้งแนวทางและมาตรการแก้ไข สพท. สศศ. ในพื้นที่ทั่วประเทศ


ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งข่าวสาร สถานการณ์หมอกควัน PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ว่ามีค่าสูงขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงส่งเอกสารแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน PM 2.5 และปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้งสถานศึกษาในสังกัดทราบ รวมถึงกําชับให้ถือปฏิบัติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร/ ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ  ตามเอกสารที่ส่งแนบไปด้วย ทั้งนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PM 2.5 และติดตามการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย ได้ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th/webV2/ และเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.pcd.go.th เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563

สพฐ. อบรมศึกษานิเทศก์ 826 คน ก่อนแต่งตั้งให้ประจำ สพท.


นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กําหนดการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งศึกษานิเทศก์ สังกัด สพฐ. จํานวน 826 คน ระหว่างวันที่ 6 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2563 โดยกําหนดการพัฒนา 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเสริมสร้างสมรรถนะของศึกษานิเทศก์ จํานวน 8 วัน ระหว่างวันที่ 6 - 16 มกราคม 2563 ณ จุดพัฒนาตามภูมิภาค 5 ภูมิภาค ระยะที่ 2 การฝึกประสบการณ์นิเทศการศึกษา ระหว่างวันที่ 17 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามที่ สพฐ. กําหนด และระยะที่ 3 การนําเสนอผลการฝึกประสบการณ์นิเทศการศึกษา ระหว่างวันที่ 8 - 11 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สถานที่ที่สพฐ. กําหนด โดยแบ่งตามภูมิภาค 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง และภาคใต้

สำหรับการอบรมในระยะที่ 1 การเสริมสร้างสมรรถนะของศึกษานิเทศก์ จํานวน 8 วัน นั้น ผู้อบรมจะได้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ คุณลักษณะของศึกษานิเทศก์ พื้นฐานการนิเทศ ทักษะ เทคนิคและกระบวนการนิเทศการศึกษา การนิเทศการศึกษาโดยใช้วิจัยเป็นฐาน การติดตาม ประเมิน และรายงานผลการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเองก่อนแต่งตั้งเป็นศึกษานิเทศก์ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป

สพฐ. จับมือ 62 ผอ.สพม. สร้างความเข้มแข็งพี่เลี้ยง ยกระดับมาตรฐานการศึกษา เตรียมพร้อมผู้เรียนสู่การประเมินนานาชาติ

                                   ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการปร...